
จัดฟันหน้าเรียวทำได้ไหม รูปหน้ากับการจัดฟัน
การเปลี่ยนแปลงรูปหน้าหลังการจัดฟัน เกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่อไปนี้ประการใดสาเหตุหนึ่งหรือร่วมกัน
- การเจริญเติบโตของใบหน้าและขากรรไกร ซึ่งเติบโตมากในช่วงวัยรุ่น และโตเต็มที่เมื่อ อายุประมาณ 14-16 ปีในผู้หญิง และ ประมาณ 18 ปีในผู้ชายขนาดของขากรรไกรถูกกำหนดโดยพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ การจัดฟันด้วยเครื่องมือมีผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกรในช่วงที่ยังโตไม่ เต็มที่ จะสามารถยับยั้งหรือกระตุ้นการเจริญของขากรรไกรบนได้เล็กน้อย หลังจากช่วงวัยรุ่นไปแล้ว ใบหน้าและขากรรไกรไม่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บริเวณจมูกและคางจะยังยื่นขึ้นได้เล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้น
- การเคลื่อนฟัน เนื่องจากฟันหน้าเป็นส่วนพยุงริมฝีปากไว้ ดังนั้น การเคลื่อนฟันหน้าไปด้านหน้าหลังจะมีผลต่อรูปปากได้ เช่น การถอนฟันและดึงฟันหน้าไปข้างหลังจะมีผลทำให้ริมฝีปากยุบลง
- การผ่าตัดขากรรไกร สามารถเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของขากรรไกรได้อย่างเด่นชัด
เครื่องมือขยายขากรรไกรบน
เครื่องมือขยายขากรรไกรบน (Palatal Expander) ใช้สำหรับขยายขากรรไกรบนที่แคบให้กว้างขึ้น เพื่อให้สัมพันธ์กับขนาดขากรรไกรล่าง และมีเนื้อที่สำหรับเรียงฟันที่ซ้อนเก เครื่องมืออาจเป็นแบบติดแน่นหรือแบบถอดได้ที่มีเครื่องมือขยายขากรรไกรอยู่ ที่กลางเพดานปาก ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีไขสกรูที่เครื่องมือเพื่อให้เครื่องมือขยายออก และจำนวนที่ไข เช่นกี่วันต่อครั้ง ผู้ป่วยควรไขสกรูตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หากลืมไขสกรู ห้ามไขเพิ่มจำนวนย้อนหลัง
เพราะการไขสกรูถี่เกินไป อาจเกิดผลเสียได้ และหยุดไขเมื่อครบจำนวน การจดบันทึกการไขสกรูไว้หรือทำเครื่องหมายบนปฏิทินว่าได้ไขสกรูแล้ว จะช่วยเตือนความจำได้ดี
เมื่อเริ่มไขสกรูแรก ๆ อาจมีอาการแน่นบริเวณขากรรไกรบน และจมูก ต่อไปเมื่อขากรรไกรขยายออก อาจจะมีช่องเปิดตรงกลางระหว่างฟันหน้าบน ซึ่งช่องนี้จะค่อย ๆ ปิดเองใน 2-3 เดือน ผู้ป่วยควรรักษาความสะอาดของเครื่องมือด้วยการบ้วนปากหรือแปรงฟันหลังอาหาร ทุกครั้งเพื่อกำจัดเศษอาหาร หากเป็นเครื่องมือถอดได้ควรถอดเครื่องมืออกมาทำความสะอาดทุกครั้งหลังอาหาร
หนังยางดึงฟัน
การเลื่อนฟันบางตำแหน่งในการจัดฟัน ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ โดยการใส่หนังยางดึงฟัน (Elastic) ตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดจะทำให้ฟันเลื่อนเข้าที่ได้รวดเร็ว ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีใส่หนังยาง ทิศทางและตำแหน่งของหนังยาง รวมทั้งระยะเวลาในการใส่ เช่น ใส่ตลอดเวลา หรือ ใส่เฉพาะบางเวลา ผู้ป่วยควรเปลี่ยนหนังยางทุก 12 – 24 ชั่วโมงหลังใส่ เพราะยางจะล้า หมดแรงดึง ควรใส่หนังยางคืนทันทีหลังทานอาหารและหลังทำความสะอาดฟัน การใส่หนังยางไม่สม่ำเสมอ ฟันจะเลื่อนไปแล้วเลื่อนกลับ ถ้าตะขอที่เกี่ยวหนังยางบิด หรือหัก ให้รีบติดต่อทันตแพทย์ทันที ฟันที่เกี่ยวหนังยางอาจมีอาการเจ็บ ๆ หรือ โยกเล็กน้อย หลังใส่หนังยางเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปกติ ไม่ต้องกังวล ถ้ามีอาการมากผิดปกติ ให้ติอต่อทันตแพทย์
Headgear
Headgear เป็นเครื่องมือพิเศษที่ช่วยในการจัดฟัน โดยใช้ดันฟันบนไปข้างหลัง หรือใช้เสริมฟันหลัก ใส่ Headgear ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออย่างน้อยวันละ 12-14 ชั่วโมง รวมทั้งเวลานอน ไม่มีการใส่ที่มากเกินไป โดยทั่วไปไม่ควรใส่ Headgear เมื่ออยู่นอกบ้านเพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ไม่ใส่ headgear ขณะวิ่ง หรือเล่นกีฬา ระวังไม่ให้ผู้อื่นดึง Headgear ขณะที่ใส่อยู่
การถอดใส่ Headgear ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เครื่องมือจัดฟันในปากหลุดหลวม หรือตะขอของ Headgear ทิ่มปาก หน้า หรือตาได้ หากเครื่องมือที่ Headgear เกี่ยวอยู่หลุดหรือหลวม ให้หยุดใช้ Headgear แล้วติดต่อทันตแพทย์ทันที Headgear ชนิดที่ดึงด้วยหนังยาง ให้เปลี่ยนยางทุก ๆ 3-4 วัน ฟันที่ Headgear เกี่ยว อาจมีอาการเจ็บ ๆ เล็กน้อยหลังใส่ Headgear เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นปกติ แสดงว่าฟันเริ่มเคลื่อนที่ พยายามใส่ Headgear สม่ำเสมอต่อไป
ข้อมูลจาก สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย